บ่อที่โด่งดังสุดๆในรอบปี พลิกรูปแบบการเลี้ยง บ่อไม่มีใบพัดตีน้ำ ใช้แค่อ๊อกใต้น้ำโอทูบับเบิ้ล

ข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง

          ปล่อยกุ้ง 4,000,000 ตัว เลี้ยงแบบปล่อยตรง (วันที่สัมภาษณ์ กุ้งมีอายุ 96 วัน ขนาดกุ้ง 18 ตัว ต่อ กิโลกรัม) มีการพาเชี่ยนกุ้งหลายครั้งจนปิดบ่อ

รูปแบบการเลี้ยง

           รูปแบบการเลี้ยงแบบไม่ใช้ใบพัดตีน้ำ โดยใช้หลักการโปรตีนสกิมเมอร์ในการเลี้ยง โดยแผงเติมอากาศจากยางโอทูบับเบิ้ล การดูแลโดยรวมนั้น เหมือนกับการทำบ่ออนุบาลขนาดใหญ่

          โปรตีนสกิมเมอร์ (Protein Skimmer) การขับอนุภาคที่เล็ก ของสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำออกโดยใช้ "ฟองอากาศ" ในการดักจับ หรือกล่าวสั้นๆว่าใช้โปรตีนสกิมเมอร์ ในการแยกของแข็งออกจากของเหลวนั่นเองเนื่องจากสารอินทรีย์ที่ละลายปะปนอยู่ในน้ำ (Dissolved Organic Compounds (DOCs) มีขนาดเล็กมาก ซึ่งสารอินทรีย์เหล่านี้ มีทั้งขั้วที่ไม่ชอบน้ำคือชอบจับอากาศ) และส่วนขั้วที่ชอบน้ำ(ทำให้สารอินทรีย์ดังกล่าวละลายน้ำได้)

          ในขณะที่สารอินทรีย์ละลายในน้ำอยู่ ส่วนหัวที่ชอบน้ำจะหันหน้าอยู่วงชั้นนอกติดกับน้ำ แต่ส่วนไม่ชอบน้ำ(ชอบอากาศ)จะหลบตัวล้อมกันอยู่วงใน เพื่อดึงสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำออกจากน้ำ จึงต้องใช้ฟองอากาศซึ่งเป็นสารไม่มีขั้วไปแตกกับล้อมวงดังกล่าว แล้วอากาศไปจับมือกับส่วนไม่ชอบน้ำของสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำเพื่อช่วยดึงสารอินทรีย์ออกจากมวลน้ำ การใช้ฟองยิ่งละเอียดยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกสารอินทรีย์ออกจากมวลน้ำสารอินทรีย์เหล่านั้นเมื่อจับกับอากาศแล้วจะขึ้นอยู่บนฟองที่ผิวน้ำ เพื่อรอการกำจัดทางท่อดูดผิวน้ำในขั้นถัดไป

          เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้เราลองนึกภาพ การต้มน้ำกระดูกหมูที่เดือดจัด จะมีคราบโปรตีนเกาะบนฟองผุดในช่วงเราเพิ่งเริ่มต้ม ฟองเหล่านั้นทำหน้าที่โปรตีนสมเมอร์ หรือช่วยจับคราบโปรตีนที่สุกปรกออกจากน้ำต้มกระดูกหมู หลักการกำจัดของเสียในบ่อเลี้ยงโดยการโปรตีนสกิมเมอรก็เช่นกัน ทางพี่อรรถสิทธิ์ได้ออกแบบท่อดูดน้ำบนผิวน้ำด้านบนเพื่อให้ดูดฟองสกปรกไหลออกไปนอกบ่อ

ระบบออกซิเจนในบ่อ

          ระบบออกซิเจนใต้น้ำจึงมีส่วนสำคัญมากที่สำหรับการเลี้ยงแบบไม่มีใบพัดตีน้ำ นอกจากแผงเติมอากาศจะต้องทำหน้าที่ให้ออกซิเจนจากพื้นบ่อสูงด้านบน ควบคุมDO ให้มากกว่า 5 เสมอ รวมทั้งการมิกซ์ซิ่งของน้ำแล้ว ยังต้องทำให้เกิดฟังก์ชั่นโปรตีนสกิมเมอร์(เพื่อให้การทำงานตามหลักการโปรตีนสกิมเมอร์สมบูรณ์แบบนั้น การวางแผงเติมอากาศจะต้องวางแล้วให้เกิดลมทุกจุด ไม่มีการตกตะกอนลงไปพื้นบ่อเลย) บ่อนี้มีขนาด 5.3 ไร่ ใช้แผงเติมอากาศประดิษฐ์โอทูบับเบิ้ล ทั้งหมดจำนวน 1500 แผง โดยมีระยะห่างแผงไม่เกิน 2 เมตร โดยวางสลับเป็นตาหมากรุก

          แผงจะต้องวางกระจายทั่วบ่อออกซิเจนจะต้องเกิดทั่วบ่อ ทุกจุด แต่จะมีการลดจำนวนแผงในบริเวณหลุมกลาง เพื่อให้รวมหลุมเลน และ เพื่อถ่ายน้ำ เปีดระบบลมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเลี้ยง 5 วัน เป็นการฟอกน้ำเตรียมความพร้อม

          บ่อนี้ใช้แผงเติมอากาศจำนวนมากแต่ไม่มีท่อพีวิซีหรือสายลมโยงกลางบ่อเพราะระบบจะวางลงใต้น้ำเกือบทั้งหมด

          ข้อดีของการวางระบบใต้น้ำทำให้ไม่มีการขวางการไหลของฟองอากาศด้านบน และประสิทธิภาพการจ่ายลมดี ลดการสูญเสียของลมระหว่างท่อเมนและแผงเติมอากาศ เพราะการเดินทางของลมจากท่อเมนถึงแผงเป็นระยะสั้นกว่าการวางท่อเมนบนขอบบ่อ

          ทางพี่อรรถสิทธิ์ได้มีวางแผนคิดมาอย่างดีจะมีจุดหนึ่งที่มีการเดินท่อลมจากด้านบนจดนั้นจะเป็นจุดที่สามารถเคลื่อนย้ายระบบอ๊อกใต้น้ำออกได้ไว เพื่อเป็นจุดสำหรับพาเชี่ยนกุ้ง โดยสามารถเคลื่อนย้ายเข้าออก และติดตั้งกลับไปใหม่ภายในเวลา 30 นาทีเท่านั้น 

          ระบบออกซิเจนใต้น้ำมีความสำคัญมากระบบจะต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการหรี่ปั้มตัวใดเลย พี่อรรถสิทธิ์บอกว่าระบบการเลี้ยงแบบนี้ ไฟฟ้าสามารถดับได้ไม่เกิน 10 นาที ทางฟาร์มจึงมีการติดตั้งเจเนอเรเตอร์รองรับเมื่อไฟตกหรือไฟดับอยู่ 2 ตัว

          แผงเติมอากาศที่ใช้ในบ่อทั้งหมด มีจำนวน 1,500 แผง มีขนาด 50 x 200 เซนติเมตร โดยใช้สายยางเติมอากาศโอทูบับเบิ้ล สูตรละเอียด จำนวน 6 เมตรต่อแผง น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม หรือหากคำนวณจำนวนสายยางเติมอากาศเป็นเมตรต่อพื้นที่ทั้งบ่อ 5.3 ไร่ ใช้จำนวนสายยางทั้งหมด 9,000 เมตร โดยใช้ปั้มลมรูทโบลเวอร์ มือสองขนาดใหญ่ จำนวน 6 ตัว โดยแบ่งเป็นปั้ม รูทโบลเวอร์ขนาด 20 แรงม้า 4 ตัว และรูทโบลเวอร์ ขนาด 30 แรงม้า 2 ตัว โดยวางรอบบ่อเพื่อให้ปั๊มลมรูทโบลเวอร์อยู่ใกล้จุดเดินท่อเมนลมในแต่ด้านของบ่อมากที่สุด

          ท่อเดินเมนลมโดยรอบจะใช้เป็นท่อเมนขนาด 4 นิ้ว และวางท่อรองเพื่อจ่ายลมเข้าแผงบริเวณใต้น้ำเพื่อต่อสายพีอีเข้าแผงสั้นที่สุด ลดการสูญเสียแรงดันจากท่อพีอีที่มีขนาดเล็ก หรือกินลม และที่สำคัญอีกประการ คือ เพื่อป้องกันการขวางการรวมตัวของฟองบนผิวน้ำไหล ลงท่อน้ำล้น

ระบบการถ่ายน้ำ

          ทางฟาร์มจะมีการถ่ายน้ำ เข้าออก วันละ 50 % ของบ่อ หรือ ประมาณ 8,000 คิวต่อวัน ถ่ายน้ำออกก็ 8,000 คิว ก็ต้องมีน้ำเข้า 8,000 คิวเท่ากันเพื่อรักษาระดับน้ำในบ่อให้คงที่ ควบคุมโดยคำนวณตามขนาดท่อตั้งแต่ตอนวางระบบ การถ่ายน้ำเข้าออกจะทำตลอด 24 ชั่วโมง น้ำจะถูกถ่ายออกผ่านทางหลุมกลางไปยังบ่อบำบัด โดยไม่ได้ใช้ปั๊มใดๆ เพราะบ่อเลี้ยงเป็นบ่อที่ยกพื้นก้นบ่อสูงกว่าระดับพื้นข้างเคียง ดังนั้นเมื่อเปิดวาล์วควบคุม น้ำก็สามารถไหลไปบ่อบำบัดที่อยู่ต่ำกว่าได้ตามปริมาณกำหนด ตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก นอกจากนี้ยังมีน้ำอีกส่วนที่ถ่ายออกจากบ่อผ่านท่อดูดผิวน้ำ ท่อเดียวกับที่ดูดฟองสกปรกออกไป

          ท่อดูดบนผิวน้ำ นอกจากช่วยดูดฟองสกปรกออกไปแล้วยังเป็นการเอาน้ำจืดที่สะสมจากน้ำฝนบริเวณผิวน้ำออก เพื่อช่วยทำให้ลุดปริมาณการเจือจางความเค็มจากน้ำฝน

          ในครอปต่อไปจะทำท่อดูดน้ำออกผิวน้ำ รอบบ่อ เพราะจะช่วยทำให้ฟองออกจากบ่อได้เร็วขึ้นและยังลดการปนของน้ำฝนที่ตกลงมาผสมได้ด้วย

          สำหรับน้ำที่ถ่ายเข้าจะมีจะมีเข้า 4 ทิศทางรอบบ่อ โดยจะเปิดเข้าตลอด24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยคำนวณจากขนาดท่อลำเลียง 1 ท่อสามารถถ่ายน้ำได้ 80 คิว ต่อชั่วโมง ซึ่งจะควบคุมให้เป็นระบบเข้าออกที่เท่ากัน

          น้ำที่ถ่ายออกจะส่งไปบ่อทรีตด่างทับทิม และทรีตคลอรีน ผ่านเข้าสู่ บ่อที่มี Soft Wall (ซอฟวอลล์ : กำแพงฟิลเตอร์กรองน้ำขึงจากซาแลนเป็นกำแพง 6 ชั้น สิ่งสกปรกจะถูกดักอยู่ที่ซาแลน หลังจากผ่านซอฟวอลล์น้ำจะถูกนำกลับเข้าสู่ระบบเลี้ยง จำนวน 30% โดยประมาณ เพราะน้ำที่บำบัดแล้วก็ยังมีแร่ธาตุต่างๆอยู่ การนำน้ำรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่เป็นการลดการสิ้นเปลืองแร่ธาตุ

          พี่อรรถสิทธิ์แนะนำระบบนี้ไม่เหมาะกับการเลี้ยงน้ำลึก เพราะต้องควบคุมการถ่ายเข้าออกน้ำปริมาณมากถ้าเลี้ยงน้ำลึกจะมีมวลน้ำเยอะและจัดการยาก พี่อรรถสิทธิ์จึงเลี้ยงที่ระดับน้ำลึก 1.70 เมตร

เทคนิคการให้อาหาร+แร่ธาตุ+จุลินทรีย์

          ช่วง 3 วันแรก เคยใช้ออโต้ฟิด แล้วกุ้งแตกไซส์เลยไม่ใช้แล้ว เพราะว่าออโต้ฟีดที่ติดตั้งมี 5 เครื่องไม่พอกับพื้นที่ 5 ไร่ ก็เลยใช้เป็นการลงเรือหว่านมือตลอด การให้อาหารทั้งหมด แบ่ง 7 มื้อ ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ประมาณ3 ชั่วโมงให้อาหารครั้งหนึ่งด้วยการหว่านมือ

          การให้อาหารต้องตามน้ำหนักกุ้ง คำนวณตามตารางอาหารทั่วไป เหลือให้ลดปริมาณ แต่ถ้าอาหารหมดไม่ให้เพิ่มไม่ให้อาหารตามความรู้สึก ควบคุมน้ำหนักกุ้งให้เป็นไปตามเกณฑ์ (อาหารที่กิน ณ วันที่ 94 กินไปประมาณ 110ตัน)

          นอกจากการให้อาหารตามโปรแกรมแล้วก็ยังมีการให้แร่ราตุ เน้นค่าอัลคาไลน์ให้ได้มากกว่า 200 แร่ธาตุที่ให้ทุกวันจะเป็น แมกนีเซียม โซเดียม แคลเซียม ให้โดยการลงเรือหว่านมือ ให้เช้าให้เย็น ถ้าไม่พอก็ให้ตอนกลางคืนอีก

          มีการเติมจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพน้ำ วันละ1ครั้ง โดยใช้กากน้ำตาล 50 กิโลกรัม และ ป.ม.1 10 ซอง หมักทิ้งไว้โดยไม่ได้ให้ออกซิเจน ทิ้งไว้ประมาณ 10 กว่า ชั่วโมง รอจนจุลินทรีย์บูมเพิ่มจำนวนก็จะลงบ่อ

          ค่าไฟฟ้า 375,000 บาท/เดือน ระบบนี้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 310 แอม โดยเป็นค่าใช้จ่ายหลักจาก ปั้มน้ำที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อหมุนเวียนน้ำในระบบ และปั๊มรูทโบลเวอร์ ในการเติมอากาศลงน้ำและทำงานตามหลักการโปรตีนสกิมเมอร์ภาพ ถังผสมจุลินทรีย์เพื่อใช้ปรับสภาพน้ำ

          บ่อเลี้ยงแบบไม่มีใบพัดตีน้ำของเสี่ยแป๊ก ได้ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาเป็นจำนวนมาก ท่าน รศ.ดร. ชลอ ลิ้มสุวรรณ ก็ได้นำมาพูดในงานกุ้งใต้ล่าง วันที่ 17 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เราขอสรุปใจความที่ท่านอาจารย์ชลอ ได้พูดกล่าวไว้มาให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณากัน

          ความสำเร็จของเสี่ยแป๊กนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ มีการวางแผนมาดี ต้องมีองค์ประกอบที่เหมาะสม เลือกทำเลดี อีกทั้งต้องเป็นคนมีความรอบรู้ รู้ลึก ดังนั้นการที่เรานำรูปแบบมาใช้นั้น เราต้องรู้จักวิเคราะห์ให้เข้าใจก่อนที่เราจะนำมาใช้

          สิ่งที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ มีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น

  1. พื้นที่ความเค็มบ่อเสี่ยแปีก เค็มที่เริ่มต้น 25 PPT ฝนตกลงมาก็ยังคุมความเค็มอยู่ที่ประมาณ 17 PPT ได้พื้นที่ของเราเป็นแบบนั้นไหม? ถ้าเราปล่อยหนาแน่น พื้นที่ของเราต้องมีความเค็มที่เพียงพอ ถ้าไม่ใช่เราก็ไม่ควรเลี้ยงหนาแน่นแบบนั้น
  2. น้ำทะเลปกติ ค่าอัลคาไลน์อยู่ที่ 120 - 140 ในช่วงหน้าฝนค่าอัลคาไลน์ต่ำ การที่เราจะทำให้ค่าอัลคาไลน์สูงได้ ต้องใส่โซเดียมไบคาร์บอเนตที่สูง เราต้องควบคุมปัจจัยอื่นตาม นั้นก็คือค่า pH จะสูงไม่ได้ เสี่ยแป๊กคุมอยู่ที่ประมาณ 7.3 - 7.6 มิเช่นนั้นจะเกิดสภาพที่กุ้งลอกคราบไม่ได้
  3. ระบบที่มีการดูดถ่ายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน ถ้าเรานำไปปรับใช้ เราต้องวางระบบให้ดี ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่รู้ว่า เราจะสูญเสียอาหารไปอย่างไรบ้าง
  4. ระบบอากาศ เสี่ยแป๊กได้งางแผนไว้ดีมาก มีการวางแผนป้องกันความเสี่ยง มีเจเนอเรเตอร์สำรองไฟฟ้า ออกแบบได้ดีมาก เกษตรกรทั่วไปสามารถประยุกต์ระบบอ๊อกใต้น้ำโดยติดตั้งหน้าใบพัดตีน้ำจดนี้น่จะเป็นประโยชน์

* การที่เราเห็นว่าเขาทำสำเร็จ เราต้องมาวิเคราะห์ เหตุผลปรับใช้ให้เหมาะกับตนเองจึงจะดีที่สุด*

          พี่อรรถสิทธิ์ได้กล่าวไว้อีกว่า ระบบไม่ใช้ใบพัดตีน้ำนี้ ที่ใช้เพียงการเติมอ๊อกใต้น้ำแบบนี้ กุ้งอยู่สบาย เมื่อสัตว์อะไรก็ตามอยู่สุขสบายแล้ว มันก็ไม่ป่วย ดูสดชื่น แข็งแรง โตไวมาก และกุ้งที่ได้ยังสวย กุ้งดี ไม่เป็นแผล ไม่แตกไซส์ด้วยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ถึง100ตัน เอาแค่ 10-20-30 ตันก็ดีแล้ว แนวทางนี้ไม่ใช้ใบพัดตีน้ำนี้เป็นอีกแนวทางเลือกที่ให้เกษตรกรสามารถพิจารณาลองทำได้